วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566
ดร.นิวัตน์ ลิ้มสุขนิรันดร์ อธิบดีกรมพลศึกษา มอบหมายให้ ดร.วนิดา พันธ์สอาด ผู้อำนวยการสำนักวิทยาศาสตร์การกีฬา นำคณะวิทยากรเข้าร่วมจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ ในหัวข้อ “การทดสอบความสามารถทางการรู้คิดของสมองด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับเยาวชน” เนื่องในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566 ซึ่งจัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
การอบรมเชิงปฏิบัติการ ในหัวข้อ “การทดสอบความสามารถทางการรู้คิดของสมองด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับเยาวชน” จัดการอบรมเพื่อส่งเสริมและพัฒนาทางด้านสุขภาพความคิด ร่างกาย จิตใจของเด็กวัยรุ่นไทย พร้อมทั้งยังช่วยกระตุ้นและสร้างการตระหนักรู้ในการดูแลสุภาพสมอง การออกกำลังกายและเล่นกีฬาเพื่อให้มีสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืนตลอดช่วงชีวิต และยังเป็นเป็นการนำเสนอและขยายผลการวิจัยและนวัตกรรมของกรมพลศึกษา โดยมีเด็ก เยาวชน และประชาชน เข้ารับการอบรม จำนวน 2 รอบๆละ 60 คน รวมทั้งสิ้น 120 คน มีการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับความสามารถทางการรู้คิดของสมอง (Cognitive functions) กีฬากับการพัฒนาสมองในเด็ก ผู้เข้าร่วมจะได้เรียนรู้และทดสอบความสามารถทางสมองด้วย “ชุดทดสอบความสามารถทางสมองด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์” (Computerized cognitive test battery) ที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อจะได้ทราบถึงความสามารถในการทำงานของสมองของตนเองในเบื้องต้น พร้อมทั้งสามารถเปรียบเทียบข้อมูลของตนเองกับเกณฑ์ปกติ (Norms) ของเด็กไทยได้อีกด้วย ทั้งนี้ความสามารถทางการรู้คิดของสมอง (Cognitive function) ถือว่าลักษณะสำคัญของมนุษย์สำหรับการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ และเป็นทักษะขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต
สำหรับการทำงานของชุดโปรแกรมนี้ สามารถทำการประเมินความสามารถทางสมองในด้านความเร็วในการประมวลผลข้อมูล (Speed of processing), ความสามารถของการบริหารจัดการของสมองส่วนหน้า (Executive Functions : EF), ความยืดหยุ่นทางความคิด (Cognitive flexibility), การควบคุมยับยั้ง (Inhibition), การเลือกจดจ่อใส่ใจ (Selective attention) และความสามารถของสมองทางด้านมิติสัมพันธ์ โดยการทดสอบความสามารถทางการรู้คิดของสมอง นับว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับวงการกีฬาไทย กรมพลศึกษาจึงเล็งเห็นถึงการประเมินศักยภาพทางสมองในทางการกีฬา จึงได้พัฒนา “ชุดทดสอบความสามารถทางสมองด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์” (Computerized cognitive test battery) เพื่อนำมาใช้ประเมินความสามารถทางการกีฬาอีกด้านหนึ่ง และได้ข้อค้นพบจากการวิจัยว่า นักกีฬาที่เป็นเลิศจะมีประสิทธิภาพด้านการรู้คิดของสมองที่เหนือกว่านักกีฬาที่มีระดับความสามารถรองลงมา ซึ่งการพัฒนาเพียงแค่ด้านร่างกายของนักกีฬาคงไม่เพียงพอ การพัฒนาความสามารถทางสมองจึงมีความสำคัญไม่แพ้กัน ผู้ฝึกสอนต้องให้สำคัญในการพัฒนาการรู้คิดของสมองของนักกีฬา เพื่อยกระดับให้เกิดความเป็นอัจฉริยภาพทางการกีฬากับนักกีฬาไทยในอนาคต
ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ